[Scoop] เสียงสะท้อนจากพื้นที่ชายแดน : มุมมองต่อแรงงานข้ามชาติจากนักวิจัยลุ่มน้ำโขง
นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2025-05-18 15:13:10 40![[Scoop] เสียงสะท้อนจากพื้นที่ชายแดน : มุมมองต่อแรงงานข้ามชาติจากนักวิจัยลุ่มน้ำโขง](gallery_news/1747555993/img1-1747555993.png)
กิจกรรม "ดูหนัง ฟังทอล์ก สัญจรถิ่นอีสาน" จัดโดย พนมนครรามา มีการหยิบยกประเด็นแรงงานมาเปิดพื้นที่พูดคุยในเวทีเสวนา “เคลื่อนย้ายหวังตั้งมั่นเมืองบ่มั่นคง : การเคลื่อนย้ายแรงงานกับการเผชิญความเสี่ยงจากการทำงานท่ามกลางสภาวะโลกรวน” เพื่อสะท้อนมุมมองและเสียงจริงของแรงงานจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์ แรงงานไทยในต่างแดน ไปจนถึงนักวิชาการ และนักสื่อสารสาธารณะ
ซึ่งเวทีนี้ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ในฐานะนักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงว่า ภาพรวมของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดนของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม, อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย และอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งพบว่าในแต่ละพื้นที่มีกลุ่มแรงงานและลักษณะงานที่แตกต่างกัน
อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม พบว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุเริ่มตั้งแต่ 13–40 ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของแรงงานทั้งหมด แรงงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรกรรม เช่น การปลูกยาสูบ มะเขือเทศ โดยเฉพาะบ้านแพงมีลักษณะภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก และเป็นพื้นที่สะสมตะกอนจากน้ำหลาก มีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 4,000 ไร่ ซึ่งทำให้นายทุนจำเป็นต้องหาแรงงานจำนวนมากมารองรับความต้องการดังกล่าว แต่แรงงานไทยกลับไม่ทำงานเหล่านี้ จึงต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจากประเทศลาว
นอกจากประเด็นเรื่องการขาดแคลนแรงงานไทย อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาในเชิงสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ยังอยู่ในช่วงเติบโตและมีความเสี่ยงด้านพฤติกรรมทางเพศ ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก และประเด็นทางกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนพอในการจัดการ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การลงทุนจากจีนที่เข้ามาในพื้นที่ชายแดนของไทย ยังส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทว่าแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น มักจะทำงานได้ไม่นานและย้ายถิ่นฐานไปยังที่อื่นหากมีโอกาสหรือมีศักยภาพสูงขึ้น
อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ยังกล่าวถึงข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติจากกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ระหว่าง 3.3-3.7 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GDP per capita) ของไทยเพิ่มขึ้นถึง 6.2% แต่ในทางกลับกัน แรงงานเหล่านี้กลับเผชิญกับการถูกมองว่าเป็น “แรงงานชั้นล่าง” ภายใต้แนวคิดชาตินิยม ทั้งที่แรงงานกลุ่มนี้เข้ามาทำงานในส่วนที่แรงงานไทยไม่ทำ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยิ่งส่งผลให้แรงงานในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
“เราควรเปลี่ยนวิธีคิดว่า เมื่อแรงงานเหล่านี้เข้ามาแล้ว เราจะบริหารจัดการอย่างไร ให้เขาอยู่ในระบบและช่วยพัฒนาประเทศของเรา ไม่ใช่แค่ใช้แรงงานเขาแล้วปล่อยปละละเลย ภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการดูแลแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเรื่องของสวัสดิการและการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน"
จำนวนแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบบริการสุขภาพไทยล่าสุด (ปี 2568) ดังนี้
1.กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (ท.99) ประมาณ 730,000 คน
2.ระบบประกันสังคม ประมาณ 1,430,000 คน
3.กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว (ซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข) ประมาณ 309,000 คน
ส่วนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาผิดกฎหมาย ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพกับกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวของกระทรวงสาธารณสุขได้โดยตรง เพราะการขึ้นทะเบียนซื้อประกันสุขภาพต้องมีเอกสารยืนยันสถานะ เช่น บัตรประจำตัวบุคคล หนังสือเดินทาง หรือใบอนุญาตทำงานตามที่กองทุนกำหนด
อย่างไรก็ตาม แรงงานที่ไม่มีเอกสารหรือสถานะถูกกฎหมายจริง ๆ หากเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ จะต้องชำระค่ารักษาเองเต็มจำนวน แต่ในกรณีที่ไม่มีความสามารถชำระ หน่วยบริการอาจพิจารณาช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม
ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการรองรับแรงงานข้ามชาติในด้านสิ่งแวดล้อมหรืออาชีวอนามัย ตัวอย่างเช่น แรงงานที่บ้านแพงซึ่งต้องทำงานกลางแจ้งท่ามกลางอุณหภูมิสูงและแสงแดดรุนแรง พวกเขาเก็บเกี่ยวใบยาสูบในสภาพที่ไม่เหมาะสม ไม่มีแม้แต่พัดลม หลบแดดเพียงในเพิงเถียงนา และได้รับค่าจ้างร้อยใบยาสูบขนาด 30 ซม. จำนวน 100 ไม้ ถึงจะได้ค่าจ้างในราคา 35 บาท ซึ่งไม่เพียงสะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมในสวัสดิการ แต่ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อทั้งแรงงาน การใช้สารเคมี และระบบเกษตรโดยรวม
ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น
อัลบั้มภาพ : https://www.facebook.com/share/p/1AajJNBi35/