ม.นครพนม วิจัยแปรรูปลิ้นจี่ นพ.1 นครพนม: จากผลสดสู่ผลิตภัณฑ์ผงเพื่อเพิ่มมูลค่า
นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2025-05-02 11:00:28 122
จังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ประจำถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หนึ่งในนั้น คือ ลิ้นจี่สายพันธุ์ "นพ.1" ซึ่งมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ กลิ่นหอม และเนื้อแน่น แต่ปัญหาที่พบทุกฤดูการผลิต คือ ปัญหาลิ้นจี่แตกจากการโดนฝน โดยเฉพาะช่วงก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งทำให้ผลผลิตจำนวนมากไม่สามารถจำหน่ายในรูปแบบผลสดได้ หากจะทิ้งไปก็เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและต้นทุนของเกษตรกรอย่างน่าเสียดาย
ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนครพนมจากคณะเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่งมีสาขาที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี จึงได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการแปรรูปลิ้นจี่ที่ไม่สามารถขายเป็นผลสดได้ (ตกเกรด) ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลากหลายประเภท หนึ่งในแนวทางที่ได้รับความสนใจ คือ การแปรรูปเป็นลิ้นจี่ผง (Lychee Powder) อาจารย์นิสากร ศรีธัญรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเกษตรและเทคโนโลยี กล่าวว่า การคัดเลือกในกระบวนการนี้ คือ ผลที่มีความสมบูรณ์แต่เกิดรอยแตกจากฝนตก โดยทีมนักวิจัยได้พัฒนากระบวนการแปรรูป เริ่มจากการนำผลลิ้นจี่สดมาชั่งน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ผ่านขั้นตอนการปอกเปลือก แยกเมล็ด และนำเนื้อลิ้นจี่เข้าไปตีให้ละเอียดจนเป็นเนื้อโฟม เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำแห้งแบบพิเศษที่เรียกว่า Foam Mat Drying ซึ่งเป็นกระบวนการทำแห้งที่ใช้อุณหภูมิต่ำ ช่วยในการรักษากลิ่น รส สี และคุณค่าทางโภชนาการของลิ้นจี่ไว้ให้ได้มากที่สุด
Foam Mat Drying มีข้อดี คือ ช่วยป้องกันการสูญเสียกลิ่นหอมตามธรรมชาติของลิ้นจี่ เนื่องจากสารให้กลิ่นมักระเหยหายไปเมื่อเจอความร้อนสูง วิธีนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับลิ้นจี่สายพันธุ์ นพ.1 ที่กลิ่นเป็นจุดเด่น เมื่อนำเนื้อโฟมที่ผ่านการทำแห้งมาเข้าสู่กระบวนการบดละเอียดจะได้ผงลิ้นจี่ที่มีความเข้มข้น และยังคงคุณภาพสูง โดยผลสด 1 กิโลกรัม จะได้ผงลิ้นจี่ประมาณ 200 – 300 กรัม ด้วยความเข้มข้นของลิ้นจี่ผง จึงสามารถนำไปใช้ในปริมาณที่น้อยแต่ยังคงให้กลิ่น รส และสีที่ชัดเจน ตัวอย่างการใช้งาน เช่น ใส่ในเครื่องดื่ม โดยใช้น้ำเพียง 1 ลิตร สามารถเติมผงลิ้นจี่แค่ 5 – 10 กรัม ก็ให้รสชาติที่ดี หรือใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เยลลี่ ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์ขนมหวานอื่น ๆ ได้หลากหลาย นอกจากนี้ ยังสามารถปรับแต่งรสชาติให้ถูกปากผู้บริโภคมากขึ้น โดยอาจเติมสารให้ความหวานเพิ่มเล็กน้อย เพื่อปรับสมดุลรสชาติจากความเปรี้ยวนำของลิ้นจี่ นพ.1 ให้มีความกลมกล่อมยิ่งขึ้น แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยลดของเสียทางการเกษตร แต่ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร และยังเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ สร้างรายได้ใหม่จากการแปรรูปเพิ่มได้อย่างยั่งยืน อาจารย์นิสากร กล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และมีแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในช่วงหลังฤดูการเก็บเกี่ยวของปีนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถผลักดันให้เกษตรกรหรือกลุ่มชุมชนในพื้นที่หันมาให้ความสำคัญกับการแปรรูปมากยิ่งขึ้น เพราะการแปรรูปเป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถต่อยอดความรู้จากงานวิจัยนี้ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถวางขายได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอฤดูลิ้นจี่เพียงอย่างเดียว ผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกในการบริโภคลิ้นจี่ นพ.1 เพิ่มมากขึ้น และเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงให้กับผลไม้ท้องถิ่นของนครพนมในตลาดระดับประเทศและต่างประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการ กลุ่มชุมชน หรือบุคคลทั่วไป ที่สนใจต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อสอบถามทีมวิจัย คณาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่ของคณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม ได้โดยตรง หรือสามารถติดต่อผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยนครพนม” เพื่อขอคำแนะนำ การฝึกอบรม หรือแนวทางในการดำเนินธุรกิจแปรรูปได้ ส่วนนักเรียนที่มีความสนใจจะเข้าศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถติดต่อขอข้อมูลการรับสมัครหรือคำปรึกษาทางการศึกษาได้เช่นกัน
บทความ : พัฒนะ พิมพ์แน่น
ลิงก์รายการสัมภาษณ์ : https://www.youtube.com/watch?v=qmE34w6sCcY